เต่าหกดำ
Asian forest tortoise
ชื่อไทย : เต่าหกดำ
ชื่อชื่ออังกฤษ : Asian forest tortoise
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Manouria emys
ลักษณะ : เมื่อโตเต็มที่มีกระดองยาว 2 ฟุต น้ำหนักประมาณ 30-40 กิโลกรัม กระดองโค้งสูงมาก ขาหน้าด้านบนมีเกล็ดใหญ่ ๆ ขาหลังสั้นทู่มีเล็บกลมใหญ่ และไม่มีเกล็ดขนาดใหญ่ มีเดือยอยู่ระหว่างขาหลังกับหางข้างละอัน เดือยมีกระดูกอยู่ข้างใน สำหรับใช้ยันพื้นดินเวลาปีนขึ้นที่สูงจึงดูคล้ายมีขาเพิ่มอีกสองขา เป็นหกขา จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก
การกระจายพันธุ์ : พบกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงอินโดนีเซีย จัดเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในทวีปเอเชีย
สถานภาพ : สัตว์ป่าคุ้มครอง บัญชีหมายเลข 2 (Appendix II) ของไซเตส
แม้จะเป็นเต่าบก แต่ก็ชอบความชื้น ชอบอาศัยอยู่ในโคลนตมหรือใกล้แหล่งน้ำ ในป่าดิบเขา โดยจะขุดหลุมแล้วฝังตัวอยู่ ไม่ค่อยพบในที่ราบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ
1) เต่าหกเหลือง (M. e. emys) มีกระดองเป็นสีเหลือง ด้านขอบเป็นสีน้ำตาลอ่อน เดือยด้านข้างลำตัวมีลักษณะกลมกว่า พบได้ตั้งแต่ภาคใต้ของไทย แหลมมลายู ไปจนถึงเกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย
2) เต่าหกดำ (M. e. phayrei) มีกระดองสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ เป็นชนิดที่พบได้ทั่วไป มีขนาดใหญ่กว่าเต่าหกเหลือง จัดเป็นเต่าบกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก
กินพืชและผลไม้เป็นอาหารหลัก แต่ก็สามารถกินสัตว์ขนาดเล็กได้ด้วย เช่น ทากหรือสัตว์น้ำอย่าง ปู กุ้ง หรือหอย เป็นต้นเมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ 30-50 ฟอง จัดได้เป็นเต่าบกชนิดที่มีการวางไข่มากที่สุด ด้วยการกวาดใบไม้และวัสดุต่าง ๆ มาคลุมทับไข่ไว้และเฝ้าไข่เป็นเวลาหลายวัน แทนที่จะขุดหลุมฝังเหมือนเต่าบกทั่วไป[4] มีอายุยืนกว่า 100 ปี